โครงการสถาปนิกอาสาลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ณ จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 12 – 13 ตุลาคม 2567
Publish Date: 25 ต.ค. 2567



โครงการสถาปนิกอาสาลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ณ จังหวัดเชียงราย
ระหว่างวันที่ 12 – 13 ตุลาคม 2567

สภาสถาปนิก โดยคณะอนุกรรมการสถาปนิกอาสา เดินทางไปลงพื้นที่ปฏิบัติงาน ณ จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 12 -13 ตุลาคม 2567 เพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารบ้านเรือนและหน่วยงาน ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในบริเวณต่างๆ อาทิ อำเภอแม่สาย อำเภอแม่จัน เป็นต้น โดยได้พบกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ที่ประสบปัญหาโดยเข้าพบนายโชตินรินทร์ เกิดสม รักษาการผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้ออกตรวจพื้นที่ร่วมกับคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา และสมาคมศิษย์เก่าอุเทนถวายนำทีมนักศึกษาลงพื้นที่ซ่อมแซมสะพานข้ามแม่น้ำที่เสียหาย, รายการวิถีคนแคมป์ (Camp Safari) ทำการบันทึกเหตุการณ์เพื่อออกอากาศ

ในการนี้ ได้เข้าพบนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ นายณรงค์ น้ำผึ้ง โยธาธิการจังหวัดเชียงราย นายศุภกฤต แสนอินเมือง รักษาการณ์สำนักการช่าง อบจ. เชียงราย ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพิเชษฐ์ เรือนสอน นักผังเมืองชำนาญการ และนายประพัฒน์ สีธิ หัวหน้าป้องกันและปฏิบัติการสำนักงานบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดเชียงราย เพื่อหารือแนวทางการป้องกันและเยียวยาอาคารบ้านเรือนและหน่วยงาน ที่ได้รับความเสียหายจากการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม โดยสรุปรายละเอียดที่สำคัญในแต่ละประเด็นดังนี้
1. การจัดทำแบบบ้านสำหรับผู้ประสบภัย สำหรับอยู่อาศัยแบบกึ่งถาวรขนาดเล็ก (4x7 ม.) และโมเดล โดยทางเทศบาลได้มีการออกแบบบ้านเพื่อรองรับประชาชนที่ประสบปัญหาได้รับความเดือดร้อนไว้แล้ว แต่อาจจะไม่ตอบโจทย์ในเรื่องโครงสร้างมากนัก เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด (หลังละ 200,000 บาท ไม่รวมค่าแรงก่อสร้างอีก 80,000 บาท ซึ่งทางเจ้าของบ้านจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง) โดยสภาสถาปนิกจะช่วยออกแบบบ้านขนาดเล็กใหม่ ตามงบประมาณที่จำกัดไว้ให้เป็นทางเลือกของประชาชน
2. การจัดทำผังเมืองใหม่ จัดระบบการรุกล้ำที่ดิน ริมน้ำ และป่าไม้ รวมถึงการจัดทำเขื่อนเพื่อรองรับน้ำท่วมในอนาคต บริเวณแม่น้ำที่เกี่ยวข้อง (แม่น้ำกก แม่น้ำงาว แม่น้ำสาย แม่น้ำรวก เป็นต้น) เพื่อปรับโครงสร้างทางน้ำไหล การระบายน้ำล้นฝายกั้นน้ำ 2 ชั้น โดยออกแบบสอดคล้องกับตัวเมืองจังหวัดเชียงราย เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในอนาคตต่อไป โดยสามารถประสานงานกับหน่วยงานมหาวิทยาลัยที่มีผลงานวิจัยเรื่องดังกล่าวอยู่และนำมาบูรณาการด้านวิชาชีพและวิชาการร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้
3. การศึกษาเรื่องภัยพิบัติแผ่นดินไหว โดยขอให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับประเด็นนี้ อาจจะพิจารณาจัดงานสัมมนาเพื่อศึกษาและให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้วัสดุและเครื่องเรือนเฟอร์นิเจอร์ภายในอาคารที่เหมาะสม รวมถึงโครงสร้างอาคารที่ต้องออกแบบเพื่อรองรับแผ่นดินไหวตามกฎหมายได้
สภาสถาปนิก โดยคณะอนุกรรมการสถาปนิกอาสา ได้รับฟังปัญหาด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยจะเร่งพิจารณาดำเนินการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย หรือร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐรวมถึงสถาปนิกอาสาในพื้นที่โดยเร็วที่สุด

 



<< กลับหน้าหลัก >>