การสร้างภาวะอยู่สบาย สำหรับอาคารพักอาศัยและสำนักงาน ที่ตั้งอยู่ริมทางหลวง
Creating A State of Well-Being for A Mixed-Use Building In Ayutthaya


27 มิ.ย. 2564 | 3,483
ปรับขนาดตัวอักษร
 
+
/
-
  
3




ผู้ออกแบบ : สุนารี ลาวัลยะวัฒน์ ส-สถ 3259
ผู้เขียน : สุนารี ลาวัลยะวัฒน์


บทคัดย่อภาษาไทย

การสร้างภาวะอยู่สบายในงานออกแบบสถาปัตยกรรมประเภทอาคารสำนักงานและอาคารพักอาศัย ความสูง 6 ชั้น ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ที่มีมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเสาเข็มคอนกรีต และถนนพหลโยธิน ผลงานออกแบบนี้เป็นการประมวลองค์ความรู้ผสมผสานกันจากหลายปัจจัย ดังนี้

  1. การแก้ปัญหาในเชิงเทคนิคทางด้านงานออกแบบ เพื่อประหยัดพลังงานที่เปลือกภายนอกอาคาร
  2. เปลือกนอกของอาคารที่มีความเรียบง่ายในการจัดวางจาก องค์ประกอบของแผ่นคอนกรีตสำเร็จรูปที่ระนาบรูปด้านของอาคาร มีความขัดแย้งกับการออกแบบพื้นที่ภายใน โดยพื้นที่ภายในจะมีความหลากหลายของการใช้วัสดุ
  3. การสร้างความขัดแย้งระหว่างภาพลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมภายนอกและภายใน ให้ภายนอกคงความเรียบง่ายของเปลือกอาคารแต่พื้นที่ภายในมีความเคลื่อนไหว มีเจตนาในการร้อยเรียงพื้นที่จากพื้นที่ส่วนธุรกิจที่ชั้นล่าง ไปสู่ความเป็นส่วนตัวของพื้นที่พักอาศัยส่วนบน เมื่อความเป็นส่วนตัวเพิ่มขึ้น ความเป็นธรรมชาติก็จะเพิ่มขิ้นตามเป็นพื้นที่คู่ขนานไปพร้อมกัน
  4. การแทรกพื้นที่สีเขียวเข้าไปในการจัดสรรส่วนต่างๆ ของพื้นที่ เพื่อให้เกิดมิติของการเปิดเผยองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่มีความหลากหลายที่ซ่อนอยู่ภายใน พื้นที่สีเขียวจะสร้างความแตกต่างของการใช้งานแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน เช่น พื้นที่สีเขียวบนดิน พื้นที่สีเขียวแนวขนาน พื้นที่สีเขียวใจกลางบ้าน พื้นที่สีเขียวแนวราบบริเวณดาดฟ้า


Abstract

The site and location of this project have several limitation conditions for the building design. It is located as part of an open-air concrete piling factory which operates 24 hr. The land is parallel to the superhighway that has 12 lanes. It is a situation that sandwich between the express highway and the factory production plant. Living among noise pollution from both sides is a critical factor that designers must consider significant. Moreover, the geometry of the site is rectangular shape. The longest side of the land is the East and the West orientation. Therefore the sun path is along the most extended area of the building. Since the building is part of the factory ground, the plot needs green space to support a comfortable human living condition. Therefore, this project focuses on design, considering three focus points: reducing noise pollution, finding the appropriate tropical design, direct sun path, and increasing the green volume by blending into several pathways inside the building. The simplicity of the façade derives from the prefabrication of concrete plates as the primary material on the façade design. It could pull out the strong character of the owner company as being the concrete solution company. The application of pattern and modular on the façade would spell the concept of simple design. The expression of being “humble” and fit the context of being a concrete factory is critical. However, once the user gets inside the building into the residential zone located on the 4th, 5th, and 6th Floor, there is an unveiling of unexpected living experiences with “home perception.” As “the typically home living that takes place on ground” could have a perception, inside this residential zone has as well. It is a hiding dimension that only the family member could experience as “an oasis of living” in the heart of factory ground.



บทนำภาษาไทย

ผลงานออกแบบชิ้นนี้ผู้ออกแบบต้องการสร้างภาวะอยู่สบายให้ผู้ใช้อาคาร จากการสร้างพื้นที่บังเงาอาคารด้วยแผงกันแดด เพื่อลดการแผ่รังสีความร้อนเข้าสู่ตัวอาคาร และการเว้นช่องกลางอาคารเพื่อเพิ่มพื้นที่ของช่องเปิด สำหรับการได้รับลมและแสงธรรมชาติ ทั้งสองหัวข้อหลักเป็นการใช้แนวความคิดในการออกแบบ สร้างสมดุลการใช้พื้นที่ภายในและภายนอกอาคาร ภายใต้ข้อจำกัดของพื้นที่ที่ตั้งที่อยู่ริมถนนทางหลวง ในเขตโรงงานอุตสาหกรรม มีมลภาวะทางเสียงและมลภาวะทางอากาศ เนื่องจากผู้ออกแบบต้องการที่จะให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศ สภาพภูมิประเทศในเขตร้อนชื้นของประเทศไทย ในความเรียบง่ายตรงไปตรงมาของรูปลักษณ์อาคารภายนอก จะแฝงความเป็นธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ภายในใจกลางอาคาร



บทนำภาษาอังกฤษ

To create a building that suits the tropical climate of Thailand, shading and natural ventilation are the two main focuses. However, this particular project has another problematic factor in dealing with, which is the location. The project site parallel with the superhighway in the industries zone has a high noise and air pollution level. Therefore, the appropriate solution for the design is trying to block out all kinds of pollutions by using the concrete slab shading-devise, which covers over 90.2% of the façade that facing the main road. On the other hand, the center of the building has a natural courtyard to increase the daylight and natural ventilation. Moreover, the straightforward simplicity of the exterior of the building would create the unexpected nature atmosphere hidden in the center of the building.



1. ข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ

โครงการ
สำนักงานใหญ่ บริษัท ศรีอยุธยา คอนกรีต จำกัด
ประเภทโครงการ อาคารสำนักงานและพักอาศัยสูง 6 ชั้น
สถาปนิก/นักออกแบบ
นางสุนารี ลาวัลยะวัฒน์
ส่วนงานที่ผู้เสนอแบบรับผิดชอบ/สัดส่วน 100 %
เจ้าของโครงการ
คุณประมาณ และคุณเบญจา ตั้งตระกูลเจริญ
วิศวกร/ที่ปรึกษาโครงการ
วิศวกร นายเมธี คุณเจริญ / ที่ปรึกษาทางด้านการประหยัดพลังงาน : Dr. Martin Schoch
ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง
บริษัท ซียู พลัส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด
ผู้ก่อสร้าง/ผู้รับเหมาก่อสร้าง
กรอกข้อมูลบริเผู้รับเหมางานสถาปัตยกรรมภายนอก บริษัท ศรีเมือง คอนสตัคชั่นแอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด / ผู้รับเหมาก่อสร้างงานตกแต่งภายใน บริษัท สองหนึ่งดีไซน์แอนด์บิลท์ จำกัดวณนี้
งบประมาณการก่อสร้าง
65,000,000 บาท
ระยะเวลาในการก่อสร้าง
18 เดือน
วันที่โครงการแล้วเสร็จ
28 ตุลาคม 2560

2. ข้อมูลการออกแบบโครงการ

2.1 ที่มาความสำคัญของโครงการ

การดำเนินการออกแบบทั้งหมดเป็นการพยายามแก้ปัญหา และทำลายข้อจำกัดในการออกแบบทางสถาปัตยกรรม ดังนี้

“สร้างอาคารที่ขวางตะวัน จะสร้างภาวะอยู่สบายได้อย่างไร” ในกรณีนี้คือลักษณะอาคารจะเป็นแนวยาวตามทิศตะวันออกและตะวันตก งานออกแบบที่ได้จะเป็นอาคารที่ขวางแนวเส้นทางของพระอาทิตย์ ทำให้อาคารมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากการถ่ายเทความร้อนของผนังด้านที่ยาวที่สุดของอาคาร จากผิวอาคารภายนอกเข้าสู่ภายใน

ภาพที่ 1 : แผนที่ตั้งของโครงการอยู่ริมทางหลวงถนนสุขุมวิท

“การทำให้บ้านมีความเป็น ‘บ้าน’ ได้อย่างไรในอาคารสำนักงานของโรงงานอุตสาหกรรม” ตัวแปรในเรื่องแสงธรรมชาติสำหรับพื้นที่ของครอบครัวผสมกับการใช้วัสดุ จะสามารถนำไปสู่งานออกแบบที่สร้างความอบอุ่นและความเป็น “บ้าน” .ในชั้นที่ 4 – 6 ได้อย่างไร เนื่องจากไม่มีส่วนของพื้นที่พักอาศัยที่อยู่บนพื้นดิน  จากโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ร่วมกับอาคารสำนักงานในชั้นที่ 1-3 ด้านล่าง

2.2 การวิเคราะห์ปัญหา วิธีการออกแบบ หรือ กระบวนการออกแบบ และข้อจำกัดในการออกแบบ

ข้อจำกัดในการออกแบบเกิดจากลักษณะที่ดินที่มีขนาดยาวและแคบ โดยความยาวนั้นขนานไปตามความยาวของถนนทางหลวงที่มีทั้งมลภาวะทางอากาศสูง และเสียงดังจากรถที่สัญจรไปมา นอกจากนี้ ขนาดที่ดินมีด้านที่ยาวที่สุดคือทิศตะวันออกและตะวันตก ทำให้เมื่อสร้างอาคารจะมีผนังส่วนใหญ่ของอาคารได้รับแดดที่มีอุณหภูมิสูงตลอดทั้งวัน ปัญหาข้อจำกัดของพื้นที่ ตามความต้องการของผู้ใช้อาคารที่เป็นอาคารสำนักงานในส่วนชั้นล่าง และพักอาศัยในส่วนชั้นบนที่ไม่สามารถมีพื้นที่สีเขียวเพียงพอกับการสร้างภาวะอยู่สบายให้กับผู้ใช้อาคาร

2.3 แนวความคิดในการออกแบบ

“Unfolded an unexpected experience inside the simplicity of mass and form”

แนวความคิดในการสร้างสถาปัตยกรรมที่มีความเรียบง่าย กลมกลืนไปกับบริบทโดยรอบที่มีความเป็นอุตสาหกรรม เป็นโรงงานผลิตเสาเข็มที่ดำเนินการผลิตตลอด 24 ชั่วโมง แต่เมื่อเข้ามาภายในของอาคารจะซ่อนความอบอุ่น ความเป็นธรรมชาติที่ผู้ใช้อาคารไม่สามารถคาดเดาได้จากรูปทรงภายนอกอาคาร

2.4 การพัฒนาแบบร่าง
2.5 การประยุกต์ใช้แนวความคิดในการออกแบบส่วนต่างๆ ของโครงการ

รูปด้านอาคาร และรูปแบบแผงกันแดดที่พัฒนา:

จากข้อมูลวิเคราะห์ simulation ในขั้นต้น แบบพัฒนารอบสุดท้าย โดยการพัฒนาให้มีการปิดทึบของแผงกันแดด 90% ไปประมวลผลเป็นรูปแบบแผงกันแดดจริงในการทำแบบก่อสร้าง เพื่อให้แผงกันแดดทำหน้าที่ป้องกันการแผ่รังสีความร้อนเข้าภายในอาคาร และเป็นส่วนที่ช่วยกรองแสงธรรมชาติที่เหมาะสมกับอาคาร สำหรับผิวอาคารในด้านตะวันออกและตะวันตก

นอกจากนี้มีการเพิ่มแผงกันแดดอะลูมิเนียม คอมโพสิต ที่สามารถปรับองศาได้ในส่วนของพื้นที่สำคัญ เช่น ห้องประชุมใหญ่ และห้องนอนใหญ่ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการปรับองศาของแสงอาทิตย์ และการปรับวิสัยทัศน์ในการมองทัศนียภาพออกไปด้านนอกอาคาร ให้ผู้ใช้อาคารได้สามารถปรับให้เหมาะกับความต้องการได้

ภาพที่ 4 : รูปด้านการใช้แผงกันแดดของอาคารทิศตะวันตก

ภาพที่ 5 : รูปด้านการใช้แผงกันแดดของอาคารทิศใต้ และ ทิศเหนือ

ภาพที่ 6 : แสดงการใช้แผงกันแดดในทิศตะวันออก


3. ข้อมูลผลงานการออกแบบ งานสร้างสรรค์ และกระบวนการออกแบบ

3.1 ผลงานการออกแบบ กระบวนการออกแบบ

การเติมแสงธรรมชาติ และพื้นที่สีเขียวในการสร้างพื้นที่สีเขียว

เนื่องจากที่ดินมีข้อจำกัดในการทำพื้นที่สีเขียวที่เหมาะกับการเป็นที่พักอาศัย ดังนั้น ผู้ออกแบบได้เพิ่มพื้นที่สีเขียวในบริเวณต่างๆ ของอาคารตามแนวตัดของอาคาร โดยแบ่งเป็น 3 บริเวณ คือ สวนระเบียงชั้น 4, สวนใจกลางอาคาร และสระว่ายน้ำชั้น 5, สวนดาดฟ้าที่ชั้น 6

ภาพที่ 7 : แบบจำลองรูปตัดอาคารแสดงพื้นที่สีเขียวและสระว่ายน้ำ บริเวณกลางอาคารที่ชั้น 5

แบบจำลองแสดงภายในอาคารตามแนวตัด มีการจัดเตรียมพื้นที่สีเขียวในรูปแบบต่างๆ สอดแทรกในอาคารตามแนวตั้ง เช่น สวนกลางอาคารที่มีความลึกของดิน 2.50 เมตร เพื่อการปลูกต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สำหรับสระว่ายน้ำที่ชั้น 5 จะเป็นการซ้อนสระน้ำเป็น 2 ชั้นเพื่อป้องกั้นการรั่วซึม โดยพื้นที่ที่เหลือคือห้องเครื่องควบคุมระบบน้ำของอาคาร

3.2 แบบเพื่อประกอบการพิจารณา เช่น ผังบริเวณ ผังพื้น รูปตัด รูปด้าน ทัศนียภาพ แบบนำเสนอ ฯลฯ

ภาพที่ 8 : ผังบริเวณ
 
 
 
ภาพที่ 9 : แปลนชั้น 1 พื้นที่สำนักงาน
 
 
 
ภาพที่ 10 : แปลนชั้น 5 พื้นที่พักอาศัยครอบครัว
 

ภาพที่ 11 : รูปตัดแนวยาวของอาคาร

ภาพที่ 12 : รูปด้านของอาคาร


4. ข้อมูลหลังการออกแบบ การอภิปรายผล หรือ การวิจารณ์และสรุป หรือ ข้อเสนอแนะ

4.1 ประโยชน์ที่ได้รับจากการออกแบบ

ภาพที่ 13 : ภาพถ่ายกลางคืนด้านหน้าอาคารที่อยู่ริมถนน เพื่อเก็บศึกษาข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้อาคาร ที่จากมุมมองด้านหน้าอาคารไม่สามารถมองเห็นได้ทั้งหมด

ภาพที่ 14 : รายละเอียดการใช้แผงกันแดดทั้งแนวตั้งและแนวนอน

ผลงานที่ดีจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ถ้าเจ้าของโครงการไม่ยินยอม หรือไม่มีความเชื่อในผู้ออกแบบ งานออกแบบอาคารนี้ มีการใช้ภาษาทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างไปจากภาษาที่คุ้นชินในสังคม ผู้ออกแบบต้องการให้เปลือกอาคารภายนอกเป็นการแก้ปัญหาในเชิงเทคนิคทางด้านเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม - Environmental Technology Design Approach แต่การจัดวางพื้นที่เป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อความเป็นอยู่ในมิติของมนุษย์และความสัมพันธ์ของครอบครัว - Space programming in human Approach  อาคารหลังนี้มีรูปทรงและสัดส่วนที่ชัดเจนภายนอก กล่าวคือ มี “รูปลักษณ์อาคารที่แข็ง ตรงไปตรงมา เมื่อมองจากภายนอก” ผลสืบเนื่องจากการออกแบบตอบสนองโจทย์ทางด้านเทคโนโลยีอาคาร แต่เมื่อผู้ใช้อาคารได้เข้ามาพื้นที่ภายใน จะสัมผัสได้ถึง “ความอบอุ่น สบายตา ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภายใน” ที่เกิดจากการสร้างผลงานที่มุ่งให้เกิดพื้นที่แสดงถึงความอบอุ่น ความเป็น”บ้านพักอาศัย”

ประโยชน์ที่ได้จากการออกแบบต่อสถาปนิกคือ เป็นการทำงานที่สามารถยกระดับวิชาชีพ โดยผู้ออกแบบ ได้รับความไว้วางใจให้ออกแบบทั้งงานสถาปัตยกรรมภายนอก งานตกแต่งภายใน การจัดวางจัดซื้อเฟอร์นิเจอร์ และออกแบบภูมิทัศน์ งานที่ครบทุกองค์ความรู้แบบสมบูรณ์เช่นนี้เป็นงานที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง นับเป็นความโชคดีอย่างสูงสุดของผู้ออกแบบที่ได้มีโอกาสสร้างสรรค์งานนี้ โดยประโยชน์ที่สะท้อนกลับไปที่เจ้าของอาคาร คือการสร้างภาวะอยู่สบายอย่างยั่งยืน มีสมดุลที่ดีกับการอยู่กับธรรมชาติ มีสมดุลที่ดีของชีวิตสามารถลดชั่วโมงในการเดินทางระหว่างบ้านและที่ทำงาน ภายใต้สภาวะข้อจำกัดเดิมของพื้นที่ตั้ง ที่ในเบื้องต้นเหมาะสำหรับเป็นพื้นที่ทำงานอย่างเดียว ไม่เหมาะสำหรับเป็นพื้นที่พักอาศัย

4.2 สรุปผลการออกแบบ การต่อยอดประยุกต์ในอนาคต

ผลจากการออกแบบสามารถแบ่งเป็นพื้นที่หลักได้ 3 พื้นที่ดังนี้

  1. ภาวะความเป็นบ้านพักอาศัยที่สามารถทำให้ผู้พักอาศัยตื่นเช้าได้ยินเสียงนกร้อง และแสงธรรมชาติที่ตกกระทบยอดไม้ มองเห็นได้จากเตียงนอนของห้องนอนใหญ่ที่ชั้น 6 โดยความเป็นจริงแล้วตำแหน่งของห้องนอนนั้น เป็นด้านที่อยู่ริมถนนหลวงสายหลักขนาด 16 ช่องทางจราจร


    ภาพที่ 15 : แสงและธรรมชาติที่มองเห็นได้จากห้องนอนชั้น 6


    ภาพที่ 16 : สระว่ายน้ำขนานไปกับห้องครัวและห้องออกกำลังที่ชั้น 5

  2. แสงธรรมชาติภายในอาคารจากช่องแสงแนวตั้ง ที่กำหนดให้ปรับองศาได้ตามความต้องการของผู้ใช้อาคารในพื้นที่ส่วนกลาง เช่นห้องนั่งเล่น ห้องดูโทรทัศน์ ที่สมาชิกในบ้านมาใช้พื้นที่ร่วมกัน แผงกันแดดที่ใช้จะเปลี่ยนจากแบบติดถาวร เป็นแบบที่ปรับได้ตามแสงธรรมชาติ และความต้องการที่จะเห็นภูมิทัศน์ด้านนอกอาคารจะเปลี่ยนไปในแต่ละฤดูกาล


    ภาพที่ 17 : บริเวณห้องพักผ่อนที่มีการใช้แผงกันแดดแบบปรับองศาได้

  3. ระเบียงโดยรอบอาคารด้านหลังแผงกันแดดทำหน้าที่แตกต่างกัน เช่น เป็นทางสัญจรภายนอกอาคาร เป็นระเบียงตากผ้า และเป็นสวนไผ่ นำเอาธรรมชาติเข้ามาในห้องนั่งเล่นเพื่อสร้างบรรยากาศความสงบสบาย และช่วยกรองแสงจากทางทิศตะวันตกก่อนเข้าสู่ตัวอาคาร


    ภาพที่ 18 : สวนบนระเบียงชั้น 4 และ พื้นที่โถงรับรองแขก

 

4.3 ปัญหาข้อจำกัด และแนวทางแก้ไข

ปัญหาหลักจะเกิดจากข้อจำกัดของพื้นที่ ทำให้ผู้ออกแบบนำเอาองค์ประกอบต่างๆ ที่ควรจะอยู่บนดิน หรืออยู่รอบนอกอาคารมาไว้ในอาคาร เช่น พื้นที่สีเขียว และสระว่ายน้ำ

  1. สวนกลางบ้าน อัตราการเติบโตของต้นไม้แตกต่างไปจากต้นไม้ที่ปลูกบนดินโดยตรงตามธรรมชาติ ต้นไม้เก่ามีอัตราการเติบโตเร็วเกินไปเนื่องจากต้องการแสงจากด้านบน ต้นไม้ที่นำมาเพิ่มเติมเป็นต้นเล็กและจะเติบโตช้ากว่าปกติในช่วงแรก สำหรับสวนบริเวณระเบียงตลอดแนวทิศตะวันตก ป่าไผ่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วไปเบียดแผงกันแดด เนื่องจากได้รับแสงอาทิตย์จากบริเวณนี้ในปริมาณมาก ทำให้ต้องมีการลิดกิ่งบ่อยกว่าปกติ ส่วนใบที่เขียวสวยมักออกไปอยู่ภายนอกอาคารมากกว่าที่จะแตกกิ่งด้านในอาคาร
  2. เนื่องจากอาคารตั้งอยู่ในพื้นที่โรงงานที่มีการใช้เครน และมีการหล่อเสาเข็มที่มีขนาดยาวมาก การสร้างพื้นที่ส่วนตัวสำหรับการใช้สระว่ายน้ำจะทำได้โดยให้ตำแหน่งของสระอยู่ใจกลางอาคาร หลบจากทัศนียภาพของพื้นที่โรงงาน แต่แนวคิดนี้ต้องมาพร้อมแนวทางแก้ปัญหาในเชิงเทคนิคการก่อสร้างของการป้องกันการรั่วซึมของสระว่ายน้ำที่ชั้น 5 ไปสู่พื้นที่อื่นๆ มีการใช้แนวความคิดสระซ้อนสระ คือ การทำสระว่ายน้ำซ้อนสองชั้น และติดตั้งปั๊มน้ำป้องกันในสระชั้นที่ซ้อน เป็นการออกแบบเพื่อป้องกันการรั่วซึมของสระว่ายน้ำที่มีการออกแบบให้อยู่ในอาคาร 

บรรณานุกรม
  1. Allen, E., & Iano, J. (2017). The architect’s studio companion: Rules of thumb for preliminary design(6th ed.). Nashville, TN: John Wiley & Sons.
  2. Bauer, M., Mösle, P., & Schwarz, M. (2010). Green Building: Guidebook for Sustainable Architecture. Berlin, Heidelberg: Springer-Verlag Berlin Heidelberg.
  3. Bere, J. (2013). An Introduction to Passive House. London, England: RIBA Publishing.
  4. Chang, J.-H. (2016). A genealogy of tropical architecture: Colonial networks, nature and technoscience. London, England: Routledge.
  5. Costa Duran, S., & Sanchez Vidiella, A. (2011). The sourcebook of contemporary green architecture. New York, NY: Harper Design International.
  6. Daniels, K. (1998). Low tech, light tech, high tech: Bauen in der informationsgesellschaft. Basel, Switzerland: Birkhauser Verlag AG.
  7. Hopfe, C. J., & McLeod, R. S. (Eds.). (2015). The Passivhaus Designer’s Manual: A technical guide to low and zero energy buildings. London, England: Routledge.
  8. Kwok, A. G., & Grondzik, W. T. (2018). The Green studio handbook: Environmental strategies for schematic design(3rd ed.). London, England: Routledge.
  9. Lechner, N. (2014). Heating, cooling, lighting: Sustainable design methods for architects(4th ed.). Nashville, TN: John Wiley & Sons.
  10. Vassigh, S. (2011). Building systems integration for enhanced environmental performance. Boca Raton, FL: J Ross Publishing.

กิติกรรมประกาศ

มิติที่ทับซ้อนกันในการออกแบบและการก่อสร้างของอาคารนี้ จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ได้รับการยินยอมและสนับสนุนจากเจ้าของอาคาร คือ ครอบครัวตั้งตระกูลเจริญ เป็นผู้จ้างงานที่มีความเข้าใจ วางใจให้ผู้ออกแบบได้ใช้วิชาความรู้อย่างเต็มความสามารถ ผลที่ได้ทั้งหมดเป็นเพราะความใจกว้าง เปิดรับความคิดที่นำเสนอโดยสถาปนิก งานที่ดีที่จะเกิดขึ้นได้นั้น มีปัจจัยที่เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดคือเจ้าของโครงการ

ผลงานนี้คือการรวมกันระหว่างองค์ความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพของการสร้างสรรค์ผลงานทางสถาปัตยกรรม  เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การตั้งสมมุติฐาน การวิจัย การทดสอบ เปรียบเทียบความเป็นไปได้ต่างๆในขั้นตอนการออกแบบ นำมาประสานกับองค์ความรู้ทางวิชาชีพออกแบบสถาปัตยกรรมและการบริหารจัดการการก่อสร้าง ตลอดระยะเวลา 4 ปี จนโครงการแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์

 
ภาพที่ 19 : ภาพถ่ายด้านหน้าอาคารที่อยู่ริมถนน
 

Keywords : ภาวะอยู่สบาย แผงกันแดด พื้นที่สีเขียวบนอาคาร สถาปัตยกรรมเขตร้อนชื้น งานออกแบบอาคารแบบผสมผสาน SUSTAINABLE DESIGN SHADING DESIGN ELEVATED GREEN DESIGN TROPICAL DESIGN ARCHITECTURE MIXED-USE ARCHITECTURE



<< ดูทั้งหมด >>