แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ZERO COVID เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ

31 มี.ค. 2563




ACT NEWS - สภาสถาปนิก ร่วมกับศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CUD4S)
และสมาคมนิสิตเก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ZERO COVID
เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่ ระบาดเชื้อ COVID-19 เป็นการเร่งด่วน
.
ในวันที่ 30 มีนาคม เวลา 16.00 งานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ ZERO COVID ได้ถูกจัดขึ้นที่ห้องประชุมใหญ่สภาสถาปนิก
โดยมี พลอากาศตรี หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ นายกสภาสถาปนิก รศ.ดร.ปิ่นรัชฎ์ กาญจนัษฐิติ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณกฤษณะ ธนะธนิต นายกสมาคมนิสิตเก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณณัฐพงษ์ จารุวรรณพงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผศ.ดร.ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ รองคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาร่วมให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน ถึงวัตถุประสงค์ แนวทาง และกระบวนการทำงานของโครงการ ZERO COVID รวมไปถึงการระดมสมาชิกและบุคลากรวิชาชีพสถาปัตยกรรมและการออกแบบในสาขาต่างๆ เพื่อนําความรู้ ความเชี่ยวชาญ ทั้งทางด้านวิชาการและด้านวิชาชีพ ออกแบบปรับปรุง และจัดการพื้นที่โรงพยาบาลรัฐให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด
.
ท่ามกลางสภาวะวิกฤติการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา และสถานการณ์ในประเทศไทยเริ่มทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โครงการ ZERO COVID จึงเริ่มต้นขึ้นจากการรวมตัวกันของหน่วยงานชั้นนำด้านการออกแบบ ได้แก่ สภาสถาปนิก ศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมนิสิตเก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้มาใช้ปรับปรุงพื้นที่โรงพยาบาลชุมชนกว่า 800 แห่งทั่วประเทศให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดรวมไปถึงการออกแบบงานระบบและอุปกรณ์ทางการแพทย์
.
แนวทางการทำงานของโครงการแบ่งเป็น 4 โครงการย่อย ได้แก่
1. การให้คำปรึกษาด้านการออกแบบและวางผังให้กับโรงพยาบาลชุมชน
2. การพัฒนากรอบการออกแบบและต้นแบบของโรงพยาบาลสนาม
3. พัฒนาต้นแบบชุดอุปกรณ์ป้องกันตัว เพื่อความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์
4. การวางผังและการวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรจากระบบฐานข้อมูล เพื่อคาดการณ์จำนวนผู้ป่วยในแต่ละจังหวัดและเตรียมการรองรับสถานการณ์
.
สำหรับแผนการดำเนินงานนั้น ทางสภาสถาปนิกได้รวบรวมสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสถานพยาบาล เพื่อถอดบทเรียนกรณีศึกษาต่างๆ จากโรงพยาบาลที่ติดต่อเข้ามา และเตรียมจัดอบรมกำหนดมาตรฐานการทำงาน พร้อมส่งต่อความรู้ให้กลุ่มสถาปนิกอาสา สมาชิกสภาสถาปนิกที่สนใจเข้าร่วมโครงการ การสร้างกลุ่มเครือข่ายสถาปนิกอาสาในทุกๆ จังหวัด เพื่อให้การช่วยเหลือเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยมีสมาคมนิสิตเก่า คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแรงสำคัญ ซึ่งหลังจากประกาศออกไปได้เพียง 2 วันนั้น ก็ได้มีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการถึง 300 คน ในส่วนของศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเป็นผู้ประสานงานกับหลากหลายวิชาชีพเพื่อทำงานร่วมกัน เพื่อนำองค์ความรู้จากสาขาต่างๆ มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินโครงการสูงสุด
.
สถาปนิกอาสาและนักออกแบบที่มีความประสงค์เข้าร่วมโครงการ สามารถลงทะเบียนได้ที่ bit.ly/zerocovid-registration
.
สำหรับโรงพยาบาลที่ต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อประสานงานได้ที่
คุณนิธินันท์ บัวขาว 086-395-0834 และคุณรัตนาภรณ์ วาสนา 091-720-0486
โดยแจ้งปัญหาและความต้องการเบื้องต้น เพื่อให้ทีมงานจัดหาผู้เชี่ยวชาญได้ตรงกับความต้องการ
.
“เราจะไม่ปล่อยให้วิชาชีพสายแพทย์ต่อสู้เพียงลําพัง เราจะร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน”
.
ติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดเพิ่มเติมของโครงการได้ที่ เว็บไซต์ทางการของโครงการ
www.zerocovidproject.com / Facebook : Zerocovidproject และ
เว็บไซต์สภาสถาปนิก www.act.or.th Facebook : สภาสถาปนิก Architect Council of Thailand
ดาวน์โหลดรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมได้ที่
http://act.or.th/…/link/8440b90df1455cf2ec5ad99a26db7e7f.pdf
ดาวน์โหลดข่าวประชาสัมพันธ์สำหรับสื่อมวลชนได้ที่
http://act.or.th/…/link/dd27f7aa393b3b5a2c824252d2675660.pdf



<< ดูทั้งหมด >>