จรรยาบรรณ คืออะไร

30 เม.ย. 2567




  1. จรรยาบรรณ คืออะไร 

 จรรยาบรรณ หมายถึง  ประมวลความประพฤติที่ผู้ประกอบอาชีพการงานแต่ละอย่างกำหนดขึ้น เพื่อรักษาและส่งเสริมเกียรติคุณชื่อเสียงและฐานะของสมาชิก อาจเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ในแต่ละวิชาชีพจึงได้กำหนดจรรยาบรรณมากำหนดบทบาทหน้าที่ และพฤติกรรมของสมาชิกในวงการวิชาชีพซึ่งพิจารณาโดยยึดหลักการจรรยาบรรณสำคัญไม่น้อยกว่ากฎหมาย จรรยาบรรณจึงเป็นกรอบปฏิบัติที่สำคัญเพื่อให้สถาปนิกยึดถือเพื่อให้การทำงานเป็นไปตามมาตรฐานวิชาการและวิชาชีพ และเป็นไปตามหลักแห่งคุณธรรมและจริยธรรม อันจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ลูกค้าหรือประชาชนผู้ให้บริการเป็นสำคัญ เมื่องานสถาปัตยกรรมเป็นงานวิชาชีพที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานต้องใช้ความรู้ความชำนาญและความสามารถในการสร้างผลงาน เพื่อให้ผู้ว่าจ้างได้รับผลงานที่ดีที่สุด และต้องคำนึงถึงคุณภาพของงานเป็นอันดับแรก จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมจึงเป็นเครื่องมืออันสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมมีหลักการและแนวทางปฏิบัติตามที่ถูกต้องเหมาะสมอันจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน รวมทั้งความเลื่อมใสศรัทธาและความเชื่อมั่นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบัน จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมเป็นไปตาม

  1. ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรม พ.ศ. 2558
  2. ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยการประพฤติผิดจรรยาบรรณอันจะนามาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ พ.ศ. 2564

 

  1. จรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมใครบ้าง

ตามพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 กำหนดให้

  1. ผู้ได้รับใบอนุญาต
  2. สมาชิก
  3. สถาปนิกต่างชาติขึ้นทะเบียน

ต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมตามที่กำหนดในข้อบังคับสภาสถาปนิก

 

  1. คณะกรรมการจรรยาบรรณมีใครบ้าง

คณะกรรมการจรรยาบรรณประกอบด้วย ประธานกรรมการจรรยาบรรณคนหนึ่ง และกรรมการจรรยาบรรณตามจำนวนที่คณะกรรมการสภาสถาปนิกกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามคน โดยคณะกรรมการสภาสถาปนิกแต่งตั้งกรรมการจรรยาบรรณตามมติของที่ประชุมใหญ่สภาสถาปนิกจากสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมมาแล้วไม่น้อยกว่าสิบปี

(2) ไม่เคยถูกลงโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณ

(3) ไม่เป็นกรรมการ

ตามมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสถาปนิก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566 กำหนดให้กรรมการจรรยาบรรณให้มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสามปี

 

  1. การประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมมีโทษอะไรบ้าง

มาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 กำหนดโทษผู้ประพฤติผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพสถาปัตยกรรมไว้ 4 สถาน ดังต่อไปนี้

(1) ตักเตือน 

(2) ภาคทัณฑ์ 

(3) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกินห้าปี 

(4) เพิกถอนใบอนุญาต

 

กระบวนการพิจารณาจรรยาบรรณ Download

 



<< ดูทั้งหมด >>