คาเฟ่ อเมซอน ณ อโยธยา และปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน ปตท. อยุธยา
คาเฟ่ อเมซอน ณ อโยธยา และปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน ปตท. อยุธยา


04 พ.ย. 2565 | 34,902
ปรับขนาดตัวอักษร
 
+
/
-
  
7




ผู้ออกแบบ : บริษัท ดีเอฟเอพี อาร์คิเทค จำกัด
ผู้เขียน : นายปรีชา นวประภากุล


บทคัดย่อภาษาไทย


Abstract


บทนำภาษาไทย


บทนำภาษาอังกฤษ


1. ข้อมูลเบื้องต้นของโครงการ

โครงการ
คาเฟ่ อเมซอน ณ อโยธยา และปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน ปตท. อยุธยา
ประเภทโครงการ อาคารพาณิชยกรรม และการปรับปรุงอาคาร
สถาปนิก/นักออกแบบ
นายปรีชา นวประภากุล, นายชายแดน เสถียร, นางสาววริยา วงศ์ประชุม, นางสาวเขมิกา เลาหสกุล
ส่วนงานที่ผู้เสนอแบบรับผิดชอบ/สัดส่วน ออกแบบสถาปัตยกรรม และตกแต่งภายใน
เจ้าของโครงการ
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) และบริษัท อยุธยาพาณิชย์ 2021 จำกัด
วิศวกร/ที่ปรึกษาโครงการ
นายสมพร จงสวัสดิ์พัฒนา วิศวกรโครงสร้าง
ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง
บริษัท กนก เอ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
ผู้ก่อสร้าง/ผู้รับเหมาก่อสร้าง
บริษัท กนก เอ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
งบประมาณการก่อสร้าง
15,000,000 บาท
ระยะเวลาในการก่อสร้าง
3 เดือน
วันที่โครงการแล้วเสร็จ
16 กันยายน 2564

2. ข้อมูลการออกแบบโครงการ

2.1 ที่มาความสำคัญของโครงการ

สถานีบริการน้ำมันแห่งนี้  ตั้งอยู่บนพื้นที่เช่าของกรมธนารักษ์  ก่อตั้งมาเป็นเวลากว่า 60 ปี  ได้รับการปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สภาพของสถานีบริการฯ ก่อนการปรับปรุงมีสภาพทรุดโทรม(รูปที่ 1) ประกอบกับที่ตั้งของสถานีฯ  ตั้งอยู่สี่แยกกลางเมืองใกล้สถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง  นายภานุ  แย้มศรี  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด(มหาชน)  จึงได้มีแนวคิดที่จะปรับปรุงสถานีบริการฯ แห่งนี้  เพื่อเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของสถานีฯ  ให้มีความกลมกลื่นกับสภาพแวดล้อมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  โดยได้รับความร่วมมือจากอุทยานประวัติศาสตร์จังหวัดอยุธยา เกี่ยวกับข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ของที่ตั้งโครงการอีกด้วย

รูปที่ 1  สถาพเดิมภายในสถานีบริการน้ำมันก่อนการปรับปรุง

2.2 การวิเคราะห์ปัญหา วิธีการออกแบบ หรือ กระบวนการออกแบบ และข้อจำกัดในการออกแบบ

เนื่องจากโครงการตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเป็นเมืองที่ได้รับประกาศให้เป็นมรดกโลก โดยมีกรมศิลปากรเป็นหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับรูปแบบของอาคารที่ก่อสร้าง และมีข้อกำหนดในเรื่องการห้ามเจาะโครงสร้างใต้ดิน เพราะอาจกระทบต่อโบราณวัตถุหรือโบราณสถานในชั้นใต้ดินที่อาจจะมีอยู่  จึงต้องออกแบบโครงสร้างของอาคารวางบนพื้น ค.ส.ล. เดิมที่มีอยู่ภายในโครงการ  ซึ่งสามารถรับน้ำหนักรถบรรทุกได้ประมาณ 3 ตันต่อตารางเมตร  การออกแบบอาคารให้มีน้ำหนักเบา และให้มีภาพลักษณ์ตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์จึงเป็นโจทย์หลักของงานออกแบบชิ้นนี้

การวิเคราะห์ที่ตั้งโครงการ  ที่ตั้งโครงการหันด้านยาวไปด้านทิศตะวันตก และทิศตะวันออก(รูปที่ 2) ทางเข้าสู่โครงการด้านถนนมหาราช เป็นด้านทิศตะวันตก  จึงควรจัดให้มีต้นไม้และสวน เพื่อช่วยบดบังความร้อนจากแสงแดดให้กับอาคาร  ส่วนทางด้านถนนโรจนะเป็นด้านทิศใต้  จะได้รับความร้อนช่วงกลางวัน เนื่องจากดวงอาทิตย์โคจรอ้อมทางด้านทิศใต้  ในขณะเดียวกันด้านนี้จะได้รับลมประจำฤดูกาล  ทำให้ช่วยระบายความร้อนให้กับโครงการได้เป็นอย่างดี    ด้านทิศเหนือ และทิศตะวันออก  ติดกับบ้านเรือนทรงไทย  ตำแหน่งของอาคารสำนักงานด้านทิศตะวันออกจะได้รับความร้อนช่วงเช้าถึงกลางวัน

รูปที่ 2  แสดงการวิเคราะห์ทิศทางแดด ลม

การวิเคาระห์มุมมอง (รูปที่ 3)  มุมมองจากภายนอกสู่ภายใน พบว่า ที่บริเวณหัวมุมถนนมหาราช และถนนโรจนะ เป็นมุมที่สามารถมองเข้ามาในโครงการได้อย่างทั่วถึง  ส่วนมุมมองจากภายในสู่ภายนอกอาคารพบว่า  ตำแหน่งของอาคารล้างรถเดิม จะสามารถมองเห็นวิวภายนอกได้เป็นมุมกว้าง

รูปที่ 3  แสดงมุมมองของอาคารเดิมภายในสถานีบริการน้ำมันฯ

การวิเคราะห์พื้นที่ใช้สอยของโครงการ  อาคารเดิมที่มีอยู่ภายในโครงการประกอบด้วย อาคารสถานีเกาะจ่าย  อาคารสำนักงาน  และอาคารบริเวณด้านหลังเป็นพื้นที่ให้บริการล้างรถ  การออกแบบอาคารในโครงการนี้ จึงเป็นการออกแบบปรับปรุงอาคารเดิมในลักษณะตกแต่งผนังภายนอกอาคาร  ยกเว้นการออกแบบดัดแปลงอาคารเดิมที่เป็นส่วนบริการล้างรถ เพื่อเป็นอาคาร คาเฟ่ อเมซอน

รูปที่ 4  ผังบริเวณแสดงแนวทางการปรับปรุงสถานีบริการน้ำมัน

 

2.3 แนวความคิดในการออกแบบ

ที่ตั้งของโครงการตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนนมหาราช และถนนโรจนะ  บริเวณที่ตั้งจะอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของอยุธยา  เช่น วัดพระราม  วัดมหาธาตุ  และวัดราชประดิษฐาน  เป็นต้น  ถนนทางด้านทิศเหนือจดแม่น้ำลพบุรี  ด้านทิศใต้จดแม่น้ำเจ้าพระยา  จากการศึกษาได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลจากนางสาวสุกัญญา เบาเนิด  ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (ขณะนั้น)  ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบัน)  และนางสาวชญาดา สุวรัชชุพันธุ์  นักโบราณคดีชำนาญการ  อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา   สันนิษฐานได้ว่า  บริเวณที่ตั้งโครงการเคยเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำทั้ง 2 สายดังกล่าว(รูปที่ 5-6) โดยคลองที่อยู่ทางด้านทิศเหนือ คือ คลองประตูข้าวเปลือก  คลองที่อยู่ทางด้านทิศใต้ คือ คลองประตูจีน  แนวคลองที่หลงเหลือในปัจจุบัน จะเป็นบ่อน้ำที่อยู่ในในวัดราชประดิษฐาน (รูปที่ 7)  ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นส่วนหนึ่งของคลองประตูข้าวเปลือก  สถาปัตยกรรมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ ได้แก่ ป้อมคลองประตูข้าวเปลือก ที่มีลักษณะเป็นผนังก่ออิฐโชว์แนว มีประตูน้ำที่มีรูปแบบเป็นซุ้มโค้ง  มีการใช้อิฐเรียงตัวกันอย่างสวยงาม(รูปที่ 8-9)  เป็นที่มาของแนวความคิดหลักที่จะนำองค์ประกอบดังกล่าวมาใช้กับรูปแบบของ ร้านกาแฟ คาเฟ่ อเมซอน  เพื่อสะท้อนถึงความเชื่อมต่อของที่ตั้งในอดีตสู่ปัจจุบัน

รูปที่ 5  แผนที่ตั้งโครงการฯ

รูปที่ 6 เเผนผังเเสดงข้อสันนิษฐานการจัดการน้ำในสมัย
กรุงศรีอยุธยา โดยพระยาโบราณราชธานินท์ ปี 1926)

รูปที่ 7  บ่อน้ำที่อยู่ในในวัดราชประดิษฐาน

รูปที่ 8-9  ป้อมคลองประตูข้าวเปลือก (รูปจาก https://www.matichon.co.th/entertainment/arts-culture/news_991027และhttps://www.77kaoded.com/news/samrit/782837)

2.4 การพัฒนาแบบร่าง
2.5 การประยุกต์ใช้แนวความคิดในการออกแบบส่วนต่างๆ ของโครงการ

การออกแบบปรับปรุงอาคารสถานีเกาะจ่าย ได้นำองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมในอดีตมาประยุกต์ใช้กับวัสดุสมัยใหม่  เช่น  ฐานเจดีย์ย่อมุมได้ถูกนำมาออกแบบโดยใช้ Aluminium cladding พับไปมา เป็นผนังตกแต่งภายนอกอาคาร (Façade) บนขอบของหลังคาสถานีเกาะจ่าย  เสาสี่เหลี่ยมย่อมุมของโบสถ์ (รูปที่ 15) ถูกนำมาใช้กับเสาของสถานีฯ โดยใช้แผ่น Aluminium cladding พับย่อมุมเพื่อช่วยลดทอนขนาดของเสา  เช่นเดียวกับการทำหลืบซ่อนไฟบนฝ้าเพดานให้มีลักษณะย่อมุม  และเสาป้ายสถานีแสดงราคาน้ำมัน (Highway Sign) ก็ได้นำลักษณะการย่อมุมมาออกแบบร่วมกับลวดลายและสัญลักษณ์ (logo) ของ ปตท.

รูปที่ 15 ฐานเจดีย์ย่อมุม และเสาสี่เหลี่ยมย่อมุมของโบสถ์

องค์ประกอบอื่นๆ ของสถาปัตยกรรมในอดีต  เช่น  ซุ้มโค้งขนาดเล็กที่ใช้ประดับประทีปบนกำแพงวัด (รูปที่ 16)  ถูกนำมาใช้ออกแบบเป็นช่องโค้งสำหรับติดดวงโคมส่องสว่างบนกำแพงทางขึ้นบันไดของร้านคาเฟ่ อเมซอน  การเจาะช่องเปิดที่มีลักษณะแคบและยาวในทางตั้ง (รูปที่ 17)  ซึ่งปรากฏตามโบสถ์ถูกนำมาใช้บนผนังของอาคาร

รูปที่ 16  ซุ้มตะเกียงไฟโบราณในกำแพง

รูปที่ 17  แสดงการคลี่คลายองค์ประกอบของช่องเปิดในอดีตให้เรียบง่ายขึ้น

นอกจากนั้นยังได้ออกแบบลวดลายน้ำกระเพื่อมบนพื้นถนนของโครงการ(รูปที่ 18) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ และสื่อถึงความเป็นคลองในอดีต

รูปที่ 18  ผังบริเวณของโครงการแสดงลวดลายน้ำกระเพื่อมบนพื้นถนนของโครงการ

ในส่วนของหลังคา เลือกใช้วัสดุสมัยใหม่ที่มีน้ำหนักไม่มากนัก  เช่น หลังคา Metal Sheet ทีมีประสิทธิภาพในการสะท้อนความร้อนจากรังสีดวงอาทิตย์ ช่วยลดความร้อนเข้าสู่พื้นที่ใช้สอยของทั้งส่วนร้านคาเฟ่ อเมซอน    ห้องน้ำ และสถานีเกาะจ่าย ช่วยลดอุณหภูมิ และช่วยประหยัดพลังงานให้กับอาคารอีกด้วย


3. ข้อมูลผลงานการออกแบบ งานสร้างสรรค์ และกระบวนการออกแบบ

3.1 ผลงานการออกแบบ กระบวนการออกแบบ

การพิจารณาผังบริเวณกับความสัมพันธ์ของอาคารข้างเคียง (รูปที่ 19)  พบว่า ด้านหลังและด้านข้างของอาคารร้านกาแฟ จะอยู่ติดกับบริเวณทางเข้าบ้านพักอาศัยของผู้เช่า   จึงออกแบบให้มีทางเดินทางด้านนี้  เชื่อมต่อกับทางเข้าห้องน้ำ และเป็นทางบริการ (service) ของร้านกาแฟด้วย 

รูปที่ 19 แสดงผังบริเวณกับความสัมพันธ์ของอาคารข้างเคียง

ผู้ออกแบบได้ดำเนินการการออกแบบขั้นพัฒนา โดยอาคาร คาเฟ่ อเมซอน  ได้ใช้แนวความคิดของการนำรูปแบบของซุ้มโค้งของป้อมประตูข้าวเปลือก  นางสาวชญาดา สุวรัชชุพันธุ์  นักโบราณคดีชำนาญการ  อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาทางอุทยานประวัติศาสตร์จังหวัดอยุธยา  ได้อนุเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะซุ้มโค้งที่มีปลายยอดเหลี่ยม  รวมทั้งมีการใช้ลักษณะซุ้มดังกล่าวกับสะพานสำคัญๆ ในอดีตของอยุธยา  เช่น  สะพานเทพหมี (รูปที่ 20)  เป็นต้น  จึงได้นำมาพัฒนาใช้กับการออกแบบอาคารในลักษณะดังกล่าว

รูปที่ 20 แบบสันนิษฐานสะพานเทพหมี เป็นซุ้มวงโค้งปลายแหลม 
(ภาพจากทางอุทยานประวัติศาสตร์จังหวัดอยุธยา)

รูปที่ 21 ลักษณะของซุ้มโค้งบริเวณทางเข้าสู่ตัวอาคาร

การเลือกใช้วัสดุในอาคารสถานีเกาะจ่าย สถาปนิกได้เลือกใช้ Aluminium composite เป็นผนังตกแต่งด้านบนของชายคา ที่มีสีใกล้เคียงกับสีของอิฐแดง โดยออกแบบเจาะรูเป็นสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด เพื่อให้แสงส่องลอดออกมาในตอนกลางคืน

รูปที่ 22 ลักษณะของผนังตกแต่งด้านบนของชายคาสถานีเกาะจ่าย

รูปที่ 23 เสาป้ายแสดงราคาน้ำมันและป้ายสัญลักษณ์ห้องน้ำ ที่มีลักษณะย่อมุมอยู่ภายในกรอบของป้าย

รูปที่ 24  มุมมองด้านข้างของอาคารแสดงลักษณะของซุ้มโค้งปลายแหลม

รูปที่ 25  ลักษณะของช่องทางตั้งที่ผนังอาคาร

รูปที่ 26  ลักษณะของบันไดทางขึ้นอาคารเป็นแกนนำสายตาไปนังซุ้มโค้งด้านบน

รูปที่ 27  ภาพถ่ายแสดงทางลาดขึ้นสู่อาคาร ที่จอดรถคนพิการ และลายน้ำกระเพื่อมบนถนน

รูปที่ 28  ภาพถ่ายซุ้มทางเข้าอาคารที่ทำหน้าที่กันแดด และฝนสาด

รูปที่ 29  ภาพถ่ายบรรยากาศโดยรวมของอาคาร คาเฟ่ อเมซอน

รูปที่ 30 ภาพถ่ายบรรยากาศโดยรวมของอาคารสถานีเกาะจ่าย

รูปที่ 31  ภาพถ่ายบรรยากาศโดยรวมภายในร้าน คาเฟ่ อเมซอน

3.2 แบบเพื่อประกอบการพิจารณา เช่น ผังบริเวณ ผังพื้น รูปตัด รูปด้าน ทัศนียภาพ แบบนำเสนอ ฯลฯ

แบบเพื่อประกอบการพิจารณา เช่น ผังบริเวณ ผังพื้น รูปตัด รูปด้าน ทัศนียภาพ แบบนำเสนอ ฯลฯ

รูปที่ 32  ผังบริเวณ

รูปที่ 33  รูปด้านและรูปตัดอาคาร คาเฟ่ อเมซอน

รูปที่ 34  รูปด้านและรูปตัดอาคารสถานีเกาะจ่าย

รูปที่ 35-36  รูปทัศนียภาพ


4. ข้อมูลหลังการออกแบบ การอภิปรายผล หรือ การวิจารณ์และสรุป หรือ ข้อเสนอแนะ

4.1 ประโยชน์ที่ได้รับจากการออกแบบ

เกิดความคิดสร้างสรรค์และเป็นตัวอย่างในการนำองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมในอดีตที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้กับอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอย และการเลือกใช้วัสดุสมัยใหม่  ผสมผสานกับวัสดุท้องถิ่นที่ยังคงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมทั้งในอดีต และเชื่อมต่อถึงปัจจุบันได้อย่างลงตัว  ทำให้เกิดการศึกษาและพัฒนางานสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่และการศึกษาองค์ประกอบของอัตลักษณ์สถาปัตยกรรมท้องถิ่นต่อไปในอนาคต  ดังมีตัวอย่างการศึกษาเกี่ยวกับการถ่ายทอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นผ่านงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย (ณัฐกรณ์ ธนานันต์ และ นพดล ตั้งสกุล, 2563)  ลักษณะไทยสมัยใหม่ในสถาปัตยกรรม (ปรีชา นวประภากุล, 2540) เป็นต้น

4.2 สรุปผลการออกแบบ การต่อยอดประยุกต์ในอนาคต

การออกแบบโครงการนี้  มีข้อจำกัดตามเงื่อนไขเวลาที่กำหนด  ทำให้ต้องเลือกแนวทางที่สามารถทำการก่อสร้างได้ตามเวลา  ผู้ออกแบบได้นำองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมในอดีตที่สามารถนำไปพัฒนาหรือประยุกต์ใช้ได้กับอาคารประเภทอื่นๆ ทั้งในแง่เชิงสัญลักษณ์  และการสร้างความกลมกลืนกับชุมชนหรือบริบทที่จะต้องพัฒนาควบคู่กันไป
โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการปรับปรุงอาคารเดิมที่มีสภาพทรุดโทรมให้กลับมีรูปแบบที่สอดคล้องกับบริบทของเมือง และมีอัตลักษณ์ของสถาปัตยกรรมท้องถิ่น (รูปที่ 37)  ทำให้ผู้ใช้สอยได้รับรู้ถึงแนวความคิดในการออกแบบ  เป็นตัวอย่างที่สามารถนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ต่อไปในอนาคต

4.3 ปัญหาข้อจำกัด และแนวทางแก้ไข

บรรณานุกรม

ปรีชา นวประภากุล (2540). ลักษณะไทยใหม่สำหรับงานสถาปัตยกรรมประเภทสถาบัน.  วิทยานิพนธ์    ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชา    สถาปัตยกรรมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ณัฐกรณ์ ธนานันต์ และ นพดล ตั้งสกุล  การถ่ายทอดอัตลักษณ์ท้องถิ่นผ่านงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัย      กรณีศึกษาในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย.  วารสารสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างวินิจฉัย คณะ    สถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปีที่ 20 ฉบับที่ 1 มกราคม–เมษายน ประจำปี 2564


กิติกรรมประกาศ

โครงการนี้  ผู้ออกแบบได้รับความอนุเคราะห์ข้อมูลในเชิงประวัติศาสตร์ของที่ตั้งโครงการจากนางสาวสุกัญญา เบาเนิด  ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (ขณะนั้น)  ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา (ปัจจุบัน)  และนางสาวชญาดา สุวรัชชุพันธุ์  นักโบราณคดีชำนาญการ  รวมทั้งการสนับสนุนจาก บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ผู้ออกแบบขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง




<< ดูทั้งหมด >>